ดาวตก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติคาด ช่วงหัวค่ำวานนี้เกิดปรากฏการณ์ดาวตกชนิดระเบิดเหนือท้องฟ้าหลายจังหวัดของไทย

เมื่อวานนี้ (6 มีนาคม) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ช่วงหัวค่ำมีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบเป็นทางยาวเหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย 

แสงดังกล่าวปรากฏขึ้นประมาณ 2 ครั้ง เมื่อเวลาประมาณ 19.13 น. มีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้นแตกออกเป็น 2-3 ส่วน และเวลาประมาณ 20.21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้งเป็นสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน คาดว่าเป็น ‘ดาวตกชนิดระเบิด’

จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ซึ่งเกิดจากวัตถุบนท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้ จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้าที่เราเรียกว่า ดาวตก กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

ศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า และสีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน